เมื่อปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยสยาม ได้เก็บผลกลุ่มตัวอย่างผลไม้ในรถเข็นจากแหล่งขายจำนวนกว่า 40 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อทดสอบการปนเปื้อนในอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวน 4 รายการ คือ ชุดทดสอบกรดซาลิซิลิคในอาหาร(สารกันเชื้อรา) ชุดทดสอบโคลิฟอร์มในอาหาร(เชื้อจุลินทรีย์) ชุดทดสอบยาฆ่าแมลงในอาหาร และชุดทดสอบสีสังเคราะห์ในอาหาร
ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผลไม้จำนวน 150 กว่าตัวอย่างมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์มเกินกว่าค่ามาตรฐานมากถึงร้อยละ 67% ซึ่งส่วนมากเป็นฝรั่งดองแช่บ๊วยที่มีสีเขียวเข้มและสีแดงเข้มจนออกม่วง โดยแบ่งเป็นการปนเปื้อนสีสังเคราะห์มากถึงร้อยละ 33% และปนเปื้อนสารกันราร้อยละ 32% ซึ่งการใช้สารหรือวัตถุเคมีเจือปนในผลไม้ที่ขายตามรถเข็น ตามกฎหมายแล้วถือเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบเจอ ผู้ที่ประกอบการและผู้จำหน่ายต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้การทดสอบทำไปเพื่อให้ประชาชนที่มักรับประทานและบริโภคผลไม้รถเข็นเป็นประจำได้รับการคุ้มครองและได้รับความปลอดภัยจากสารปนเปื้อนเหล่านี้ซึ่งหากได้รับเข้าไปในปริมารและบ่อยอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต อีกทั้งมาตรการการป้องกันการใช้วัตถุดิบที่ไม่เหมาะสมในการจำหน่ายผลไม้ ซึ่งประชาชนที่ได้รับประทานหรือบริโภคอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มีไข้ หายใจติดขัด และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ภูมิต้านทานโรคต่ำและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ดังนั้นทางที่ดีผู้บริโภคควรเลือกรับประทานผลไม้โดยพิจารณาจากสีและลักษณะภายนอกที่ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่มีสารเจือปน เลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมทั้งพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆด้วย เช่น ความสะอาดของตู้ อุปกรณ์ที่ใช้ การแต่งกายของผู้ขาย มีผ้ากันเปื้อน ใส่ถุงมือ มีหมวกคลุมผมที่สะอาดหรือไม่ ถ้าให้ดีที่สุดคือการซื้อผลไม้สดมาเตรียมรับประทานเองจะปลอดภัยกว่า